โควิดในไทย ยังรักษาสถิติอัตราตายต่ำ เมื่อเทียบกับชาติอาเซียน อเมริกา ยุโรป จากการระบาดเพิ่มขึ้นในช่วงต้นปี 2568 โดยมีสายพันธุ์หลักคือ JN.1 ต่างจากบางประเทศที่พบสายพันธุ์ LP.8.1 และ XEC โดยช่วงต้นปี 2568 ประเทศไทยเผชิญกับการระบาดของโควิด เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะช่วงปลายเดือนเมษายน ถึงต้นเดือนพฤษภาคม ซึ่งมีรายงานผู้ติดเชื้อรายใหม่สูงสุดที่ 13,139 รายต่อสัปดาห์
ข้อมูลจากกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ณ วันที่ 8 พฤษภาคม 2568 ระบุว่า ประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อสะสมตั้งแต่วันที่ 1 มกราคมถึง 7 พฤษภาคม 41,187 ราย และมีผู้เสียชีวิตสะสมเพียง 14 ราย คิดเป็นอัตราการเสียชีวิตประมาณ 0.034% ซึ่งต่ำกว่าหลายประเทศทั้งในอาเซียน ยุโรป และสหรัฐอเมริกาอย่างมีนัยสำคัญ
ปัจจัยหนึ่งที่อาจมีบทบาทสำคัญคือ สายพันธุ์ที่ระบาดหลักในประเทศไทยยังคงเป็นโอมิครอน JN.1 ซึ่งข้อมูลทั่วโลกในปัจจุบันชี้ว่าโดยทั่วไปไม่ทำให้เกิดอาการรุนแรง แม้จะแพร่เชื้อได้ดี ในขณะที่บางประเทศ เช่น สหรัฐฯ และบางประเทศในยุโรป พบการระบาดของสายพันธุ์ย่อยที่กลายพันธุ์จาก JN.1 เช่น LP.8.1 และ XEC ซึ่งมีการกลายพันธุ์ที่ช่วยให้หลบภูมิคุ้มกันได้ดีขึ้น
แม้ยังไม่มีหลักฐานชัดเจนว่าทำให้โรครุนแรงมากขึ้น แต่หลายประเทศที่พบการระบาดของสายพันธุ์เหล่านี้ มีจำนวนผู้เสียชีวิตสะสมสูงกว่าไทยมาก
ตัวอย่างเช่น อินโดนีเซีย เสียชีวิตสะสม 161,327 ราย ฟิลิปปินส์ 66,444 ราย เวียดนาม 43,195 ราย ขณะที่ไทย 33,957 ราย ส่วนสหรัฐอเมริกา มากกว่า 1,100,000 ราย สหราชอาณาจักร ประมาณ 227,000 ราย เยอรมนี ประมาณ 174,000 ราย
แม้ไม่สามารถสรุปอย่างแน่ชัดว่าสายพันธุ์ LP.8.1 หรือ XEC มีความรุนแรงมากกว่า JN.1 แต่ข้อมูลในประเทศไทยยังไม่พบสัญญาณว่าการกลายพันธุ์ของไวรัสในระยะนี้นำไปสู่อัตราการเสียชีวิตที่เพิ่มขึ้น

คุณสมบัติโควิดสายพันธุ์ LP.8.1 และ XEC
เป็นสายพันธุ์ลูกของ JN.1 ที่มีการกลายพันธุ์บริเวณ spike protein เพิ่มเติม ส่งผลให้มีความสามารถในการหลบหลีกภูมิคุ้มกันสูงขึ้น กว่าสายพันธุ์แม่ แต่ยังไม่มีข้อมูลยืนยันแน่ชัดเกี่ยวกับความรุนแรงของโรค แต่การกลายพันธุ์ที่กระทบภูมิคุ้มกันอาจเพิ่มโอกาสเกิด อาการรุนแรงในกลุ่มเปราะบาง เช่น ผู้สูงอายุหรือผู้มีโรคร่วม
การตรวจสอบชนิดสายพันธุ์ในผู้เสียชีวิตและอาการรุนแรง ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีรายงานแยกประเภทสายพันธุ์ของผู้เสียชีวิตในไทยปี 2568 หากสายพันธุ์ LP.8.1 หรือ XEC เริ่มปรากฏในกลุ่มนี้ จะเป็นสัญญาณสำคัญต่อการปรับมาตรการควบคุม
แม้ไทยจะยังไม่พบหลักฐานว่าการกลายพันธุ์ของ LP.8.1 และ XEC ส่งผลต่อความรุนแรงโดยตรง แต่เพื่อคงความได้เปรียบด้านอัตราการเสียชีวิตต่ำ ประเทศไทยควรเริ่มระบบเฝ้าระวังเชิงรุกแบบมีเป้าหมายในกลุ่มผู้เสียชีวิตและผู้ป่วยหนักทันที.
เครดิตข้อมูล–ภาพ : ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ รามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล